ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก ได้ออกเอกสารชี้แจงจากกรณีที่ เครื่องบินรบเมียนมาล้ำเข้าเขตไทย ในช่วงวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ในระหว่างกำลังสู้รบกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ในรัฐกะเหรี่ยงของเมียนมา ตรงข้ามอำเภอพบพระ จังหวัดตากทางศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก ระบุว่า วันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา
เกิดการปะทะกันระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยเชื้อสายกะเหรี่ยง บริเวณบ้านอุเกรทะ อ.วาเล่ย์ใหม่ จ.เมียวดี ด้านตรงข้ามบ้านวาเล่ย์ใต้ ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก ลึกเข้าไปในฝั่งเมียนมา ประมาณ 1 กม. โดยทหารเมียนมาได้ใช้อากาศยาน สนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ ปัจจุบันการปะทะได้ยุติลงแล้วเมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การปะทะของทั้ง 2 ฝ่าย มีกระสุนไม่ทราบชนิด และไม่ทราบฝ่ายข้ามมาตกยังฝั่งไทย บริเวณไร่ปาล์ม บ้านวาเล่ย์เหนือ หมู่ 3 ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ ส่งผลให้ยานพาหนะของประชาชนได้รับความเสียหาย และเมื่อเวลา 11.59 น. วันที่ 30 มิ.ย. กองทัพอากาศไทยตรวจพบอากาศยานไม่ทราบฝ่าย บินล้ำแดนเข้ามายังฝั่งไทย บริเวณ อ.พบพระ จ.ตาก จึงมีคำสั่งให้เครื่องบินขับไล่แบบที่ 19 หรือ F-16 จำนวน 2 ลำ ขึ้นบินลาดตระเวนรบในบริเวณดังกล่าว เพื่อปฏิบัติภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กองกำลังนเรศวรได้แจ้งเตือน และทำหนังสือประท้วงไปยังคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) และกองทัพอากาศ ได้สั่งการให้ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ ประจำสถานเอกอัครทูต ณ ย่างกุ้ง ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเมียนมา แจ้งเตือน และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต กองกำลังนเรศวร และกองทัพอากาศ พร้อมตอบโต้ หากมีการรุกล้ำอธิปไตย หรือมีสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนไทย
ปัจจุบันมีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ได้เดินทางเข้ามายังฝั่งไทย 855 คน ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ 2 แห่ง คือ 1.บ้านมอเกอร์ไทย ผู้หนีภัยยอดเดิม 281 คน เดินทางเข้ามาฝั่งไทย 26 คน และสมัครใจเดินทางกลับเมียนมา 2 คน ยอดคงเหลือ 305 คน 2.บ้านวาเล่ย์เหนือ เดินทางเข้ามาฝั่งไทย 550 คน
ศูนย์สั่งการชายแดน จ.ตาก ได้ติดตามสถานการณ์ในฝั่งเมียนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน์ไทย ในการนี้ขอความร่วมมือประชาชน งดการเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว เพื่อความปลอดภัย รวมถึงขอความร่วมมือสื่อมวลชน และทุกภาคส่วน ตรวจสอบข่าวสาร ข้อเท็จจริง ก่อนที่จะนำไปเผยแพร่ โดยประชาชนสามารถรับฟังข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริง ได้จากการแถลงข่าวประจำวัน ของศูนย์สั่งการชายแดน จ.ตาก
‘ธนกร’ ยืนยันคง ราคา MRT สายสีน้ำเงิน 17-42 บาทถึงสิ้นปี
ธนกร เผยข่าวดี ราคา MRT สายสีน้ำเงิน คงอยู่ที่ 17-42 บาทถึงสิ้นปี หลังกระทรวงคมนาคมเจรจาตึงราคาได้สำเร็จ
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนผู้ใช้น้ำมัน และผู้โดยสารรถสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชน ล่าสุด กระทรวงคมนาคมหารือร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้รับสัมปทาน เพื่อหาแนวทางในการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะค่าครองชีพที่สูงในปัจจุบัน โดยได้คงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือ MRT สายสีน้ำเงิน ในราคาเดิม เริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 42 บาท พร้อมส่วนลดพิเศษสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ 50% และสำหรับนักเรียน นักศึกษา 10% ของอัตราค่าโดยสารบุคคลทั่วไป ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้โดยสารไปได้อีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารฯ สายเฉลิมรัชมงคล สายฉลองรัชธรรม และอัตราค่าโดยสารร่วม รวม 3 ฉบับ ตามนัยมาตรา 18 (13) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ ซึ่งร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร
วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารใหม่ตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยอัตราค่าโดยสารใหม่จะมีอัตราเริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 43 บาท โดยสถานีที่ 6, 9 , 11 และ 12 ขึ้นไป จะมีอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1 บาท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้โดยสาร จึงได้ร่วมหารือเพื่อคงค่าอัตราโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินราคาเดิมต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
“นายกรัฐมนตรีเข้าใจถึงปัญหาภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของพี่น้องประชาชน จากผลกระทบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งในปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เช่น ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประชาชนผู้ใช้น้ำมัน และผู้โดยสารรถสาธารณะต่าง ๆ ที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายประจำวันเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับหน่วยงานและขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันดูแลประชาชนคนไทยให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วย” นายธนกรกล่าว
Credit : ที่เที่ยวญี่ปุ่น | จัดอันดับต่างๆ | รีวิวของแบรนเนม | วิธีการลงทุนต่าง